กวดวิชาคืออะไร

โรงเรียนกวดวิชา หมายถึงโรงเรียนที่ก่อตั้งขึ้นเป็นพิเศษเพื่อกวดขันให้นักเรียนประสบเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ ซึ่งเป้าหมายสามัญที่สุดคือเพื่อผ่านการสอบเข้าไฮสกูลหรือมหาวิทยาลัยเป็นต้น คำว่า "กวดวิชา" หมายถึงเรียนอย่างหนักหรือเรียนเนื้อหาจำนวนมากภายในระยะเวลาสั้น ๆ

                         ปัจจุบันนี้ การกวดวิชากับโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนไทย ดูเหมือนจะเป็นของคู่กัน เมื่อมีการแข่งขันในการสอบเข้าเรียนต่อสถาบันการศึกษาที่รับคนเข้าเรียนน้อยและมีชื่อเสียงมาก ทำให้นักเรียนต้องดิ้นรนแสวงหาความได้เปรียบเพื่อที่จะสอบทำคะแนนให้ได้มากกว่าคนอื่น การกวดวิชาจึงเป็นหนทางดังกล่าว และดูเหมือนว่า นักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง หรือที่ต้องการยกระดับการศึกษาของตนเอง การกวดวิชาดูจะเป็นความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในสังคมไทย
          กวดวิชา ความจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นที่รู้กันอยู่ว่าการศึกษาของไทยเพื่อศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเป็นระดับที่มีการแข่งขันกันมากที่สุด จึง
เป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้มีการกวดวิชา เพื่อสร้างความพร้อมและสร้างความมั่นใจเพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขึ้นนอกเหนือ
จากหลักสูตรที่เรียนอยู่ ทำให้โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในทศวรรษที่ผ่านมา การกวดวิชาเกิดขึ้นจาก
ภาวะการแข่งขันของระบบการศึกษา ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรง มีการพูดกันมาตลอดว่า การกวดวิชาคือแหล่งหากิน
จากช่องว่างทางการศึกษา สร้างความไม่เป็นธรรมขึ้นในสังคม แต่ปัจจุบันโรงเรียนกวดวิชาเองก็ปรับตัวตามปรัชญา
การศึกษาที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาที่ทำให้นักเรียนส่วนใหญ่เกิดความต้องการเรียนกวดวิชามาจากปัญหาที่เกิดขึ้นจาก
ชั้นเรียนปกติ

          นักเรียนต้องขวนขวายที่จะเรียนกวดวิชา ซึ่งปัญหาที่พบก็คือ

1. เนื้อหา ที่เรียนในห้องเรียนไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด อีกทั้งเนื้อหาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงพอสำหรับความรู้ที่ ใช้ในการสอบคัดเลือกในระดับต่างๆ เพราะข้อสอบคัดเลือกมักจะไม่ตรงกับแบบเรียน ทำให้เสียเปรียบนักเรียนที่ออกมาเรียนกวดวิชา ที่ได้ทั้งความรู้
เพิ่มและเทคนิคต่างๆ และการเก็งข้อสอบจากโรงเรียนกวดวิชา
2. สื่อและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนที่โรงเรียนไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน อีกทั้งหนังสือและคู่มือต่างๆ มีราคา
แพง และขาดตลาดอยู่เสมอ ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาแก้ปัญหานี้ด้วยการสรุปและเพิ่มเติมเนื้อหาต่างๆ ไว้ให้นักเรียน
รวมทั้งแนะนำเทคนิคคิดเร็ว วิธีท่องจำอย่างง่าย เพื่อให้นักเรียนกลับไปทบทวนที่บ้านได้ง่ายขึ้น
3. อาจารย์ผู้สอนในโรงเรียนปกติแต่ละท่านมีความพร้อมต่างกัน คุณภาพในการสอนจึงไม่เท่ากัน บางโรงเรียนมี
อาจารย์สอนไม่ตรงกับสาขาวิชาที่จบมา ไม่มีความรู้จริง ทำให้นักเรียนได้ความรู้ไม่เต็มที่ จึงออกมาเรียนกวดวิชา
4. เวลาในการเรียนมีน้อย นักเรียนบางคนจึงกลัวเรียนไม่ทันเพื่อน รวมทั้งบรรยากาศในการเรียนการสอนใน
โรงเรียนปกติไม่ดึงดูดความสนใจของนักเรียน


                 ใน ภาวะการแข่งขันเช่นนี้ไม่เพียงแต่นักเรียนที่จะสอบคัดเลือกเท่านั้น แต่โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ เองก็ต้องแข่งขันกันเพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้าและส่วนครองตลาดมากที่สุด การแข่งขันของโรงเรียนกวดวิชาจึงสูงขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดก็ถูกสังคมมองว่า การเรียนกวดวิชาเป็นการส่งเสริมให้คนรวยเป็นต่อทางการศึกษา คือผู้ที่ได้เรียนกวดวิชามีโอกาสผ่านการสอบคัดเลือกได้มากกว่า เป็นการตัดโอกาสคนจน และผลักดันให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม อันนำไปสู่ปัญหาด้านความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา ซึ่งเป็นตัวเร่งให้ช่องว่างทางสังคมที่มีอยู่แต่เดิมกว้างขึ้นไปอีก
                  รวมทั้งอาจารย์จากสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งหันมารับงานในอาชีพ เสริมกันมากขึ้นทั้งในฐานะผู้รับจ้างสอน เก็งข้อสอบหรือแม้แต่เป็นเจ้าของกิจการเองทั้งนี้นักเรียนหลายคนที่ตาม อาจารย์ในโรงเรียนออกมาเรียนเสริมในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ยืนยันว่าในวิชาเดียวกัน จากอาจารย์ผู้สอนคนเดียวกัน พวกเขามักจะได้รับความรู้ในห้องเรียนนอกระบบที่โรงเรียนกวดวิชามากกว่า เพราะอาจารย์เหล่านี้มักจะเตรียมหลักสูตรและเคล็ดลับไว้ให้ในการเรียนพิเศษเสมอ
                 นอกจากนี้ การกวดวิชายังเป็นตัวชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทย เพราะการกวดวิชาเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายทาง และเป็นการแก้ปัญหาอย่างปัจเจก เพราะการกวดวิชาเกิดขึ้นเพราะสังคม หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาไม่สามารถแก้ปัญหาพื้นฐานของการศึกษาไทยได้ จึงทำให้การกวดวิชาเจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประชาชนก็ไม่อาจหวังพึ่งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจากหน่วยงานของรัฐได้ จึงส่งเสริมให้ลูกของตัวเองเข้าโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งกลายเป็นแหล่งที่คาดหวังว่า จะได้รับวิชาความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์มากกว่าในโรงเรียน



ที่มา
วิชาการวิเคราะห์การศึกษาเชิงวิพากษ์ ภาคการศึกษา 1/2546
โดยชนาธิป ศิริปัญญาวงศ์



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น