สถิติการเรียนกวดวิชา

                   การศึกษาของไทยหากใครมีเงินมากกว่าย่อมได้เปรียบ เลือกเรียนที่ใดก็ได้ หากเรียนไม่เก่งก็เรียนพิเศษเพิ่มในสถาบันกวดวิชาในที่สุดก็จะสามารถเรียน เก่งได้ เพราะทำข้อสอบได้ และถึงแม้จะมีเงินพร้อม บางครั้งก็เรียนในโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เพราะที่นั่งเต็มแม้แต่คอร์สที่ เรียนกับวิดีโอ เมื่อความต้องการเรียนพิเศษเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้สถาบันกวดวิชาด้านต่างๆ ขยายตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่สอนด้านวิชาการ สำหรับคนที่ต้องการเรียนที่บ้าน ก็สามารถหาติวเตอร์มาสอนให้ได้แบบตัวต่อตัว ผ่านเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊ก




                    จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) พบว่าประเทศไทยมีกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาทั้งหมด 1,983 แห่ง อยู่ในกรุงเทพมหานคร 487 แห่ง และต่างจังหวัด 1,496 แห่ง ใน 74 จังหวัด ยกเว้นหนองบัวลำพู ปัตตานี และนราธิวาส
                     สำหรับโรงเรียนกวดวิชาในต่างจังหวัด มักกระจุกตัวอยู่ในเขตปริมณฑล จังหวัดขนาดใหญ่ หรือจังหวัดหัวเมืองของภูมิภาค ที่สำคัญคือจะมีมากที่สุดในเขตอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีโรงเรียนกวดวิชามากที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพฯ ชลบุรี สงขลา นนทบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ ลพบุรี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม โดย 10 จังหวัดนี้มีโรงเรียนกวดวิชารวมกัน 1,031 แห่ง หรือร้อยละ 69 ของโรงเรียนทั้งหมดที่ยื่นขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนนอกระบบกับ สช.เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ มีโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 149 แห่ง สังกัดกรุงเทพมหานคร 430 แห่ง และอื่นๆ อีกรวม 686 แห่ง แต่มีโรงเรียนกวดวิชาครบทั้ง 50 เขต จำนวน 487 แห่ง หรือประมาณร้อยละ 71 ของโรงเรียนในกรุงเทพฯ ซึ่งสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งจากการขยายสาขาและเปิดโรงเรียนกวดวิชาใหม่
                  
                     แต่สำหรับนักเรียนมัธยมปลายนั้น ต้องใช้ความพยายามอย่างมากกว่าจะได้เรียนคอร์สที่ต้องการ โดยเฉพาะคอร์สแอดมินชันหรือติวเข้าสอบมหาวิทยาลัยที่เป็นคอร์สสด เช่น โรงเรียนกวดวิชาอาจารย์ปิง (สอนภาษาไทยและสังคม) สาขาเยาวราช (คอร์สสด) นักเรียนหลายคนต้องรอธนาคารเปิดเพื่อให้ได้โอนเงินเป็นคนแรกในวันแรกที่เปิด สมัครเรียน เพราะการได้โอนเงินเป็นคนที่ 2 บ่อยครั้งพบว่า คอร์สเต็มแล้ว
                     เรามักได้ยินเสมอว่า คนจนมักเข้าไม่ถึงการศึกษาเพราะขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่สำหรับการศึกษาในโรงเรียนกวดวิชานั้น ทุกคนล้วนมีทุนทรัพย์และต้องแข่งขันกันเสียเงิน ใครจ่ายก่อนก็ได้เรียน นี่อาจคือเหตุผลที่ว่าทำไมโรงเรียนกวดวิชาถึงเติบโตเร็วและกระจุกตัวอยู่แต่ ในเมือง และที่สำคัญคือ “ธุรกิจการศึกษาไม่ต้องเสียภาษี” ทำให้หลายๆ คนหันมาเป็นคุณครูเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา
นอกจากโรงเรียนกวดวิชาด้านวิชาการแล้ว ยังมีโรงเรียนกวดวิชาด้านการสร้างเสริมทักษะชีวิตด้วย เช่น โรงเรียนพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทางสมอง (ควอลิตี้ คิดส์/เบรนฟิตเนส) โรงเรียนภาษาอังกฤษพิงกุ ฯลฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพทางสมอง จินตนาการ และทางกายภาพ ซึ่งเริ่มในเด็กอายุ 3-12 ปี นั่นหมายความว่าเด็กทุกวัยได้เรียนพิเศษแน่ๆ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีโรงเรียนสอน
                 การเติบโตของสถาบันการศึกษานอกห้องเรียนดูเหมือนว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการศึกษาในโรงเรียนไม่เพียงพอให้เด็กและผู้ปกครองก้าว สู่อนาคตที่ต้องการได้ หากเรียนเพื่อเพิ่มเกรด นั่นอาจหมายถึงเรียนในโรงเรียนแล้วไม่เข้าใจ หากติวเพื่อสอบเข้า นั่นอาจหมายถึงเด็กและผู้ปกครองให้ความสำคัญกับข้อสอบและการทำข้อสอบได้ มากกว่าเนื้อหาทั้งหมดที่ควรรู้ หรือตลอดเวลาที่เรียนมาเด็กไม่รู้และไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียน จึงไม่สามารถมาประยุกต์ใช้เพื่อทำข้อสอบได้



ที่มา http://thaipublica.org/2013/03/tutorial-critical-study-of-thailand/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น