ข้อดี และข้อเสีย

ข้อดี
      1. ช่วย สร้างความมั่นใจและความพร้อมในการสอบ เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชามักจะรวบรวมเทคนิคต่างๆ ในการทำข้อสอบโดยยึดแนวข้อสอบของปีที่ผ่านๆ มาให้นักเรียนฝึกทำโดยจัดทำเป็นรูปเล่มสวยงาม พกพาสะดวก ทำให้นักเรียนคุ้นเคยกับโจทย์และรู้แนวข้อสอบที่จะออกในครั้งต่อไป นอกจากนี้อาจสอนตั้งแต่แนวคิดพื้นฐาน (Basic Concepts) อย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่ใช่แต่สอนกลเม็ด (Tricks) เพื่อใช้สอบอย่างเดียวเพราะสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนปกติ และเพื่อศึกษาต่อได้
     2.  ทำให้มีความรู้และประสบการณ์กว้างขวางขึ้นโดยเน้นการเรียนรู้แบบบูรณาการ ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์สอนภาษาอังกฤษ Passage เรื่องยุง ซึ่งจะให้เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ว่าคนที่ผอมมักโดนยุงกัดมากกว่าคนอ้วนเพราะยุงจะมีคลื่นจับความร้อน ดังนั้น คนอ้วนที่มีไขมันมากเมื่อยุงเข้ามาใกล้จึงไม่ได้รับความร้อนเท่าคนผอม ซึ่งความรู้ใหม่ๆ หลายอย่าง ที่ได้รับสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
      3. ช่วย ในการทบทวนวิชาที่เรียนมาตลอดทั้งปีเพราะในการเรียนกวดวิชานั้น อาจารย์จะทบทวนบทเรียนเก่าๆ ที่ผ่านมาทำให้นักเรียนได้ฟื้นความรู้และทักษะต่างๆ ในบทเรียนที่สำคัญๆ และยังได้เรียนบทเรียนใหม่ๆ ล่วงหน้าก่อนที่จะต้องเรียนที่โรงเรียนอีกด้วย
      4.  ช่วย ให้คะแนนสอบดีขึ้น ซึ่งแน่นอนหากมาเรียนกวดวิชาจะต้องได้ทบทวนความรู้เก่าและได้รับความรู้ ใหม่ๆ นักเรียนสามารถนำไปใช้ในการทำข้อสอบเพื่อเพิ่มคะแนนได้มากขึ้น ทั้งข้อสอบที่โรงเรียนและข้อสอบระดับชาติ
       5.  อาจารย์ผู้สอนมีความเป็นกันเองกับนักเรียนมากกว่าครูอาจารย์ที่โรงเรียน ทำให้กล้าคุยกล้าซักถามปัญหาการเรียนได้ตลอด เพราะครูกวดวิชามักไม่มีช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap)
       6.  วุฒิ การศึกษาของอาจารย์ที่โรงเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่มักจะเป็นอาจารย์ที่จบการ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศ และมีคะแนนระดับเกียรตินิยมทั้งระดับปริญญาตรี โท เอกรวมทั้งมีประสบการณ์การสอนมายาวนาน มีภาพลักษณ์ทางวิชาการที่น่าเชื่อถือ
       7. บรรยากาศ ในการเรียนกวดวิชาแตกต่างจากที่โรงเรียน เพราะอาจารย์ที่สอนกวดวิชามักแทรกมุกตลก หรือ เรื่องเล่าที่เป็นประโยชน์อยู่เสมอ ทำให้นักเรียนเรียนแล้วไม่เกิดความเครียด ศ.นพ.ประเวศ  วะสี เคยกล่าวว่าบรรยากาศในห้องเรียนมัธยมไทยเต็มไปด้วยความเครียด กวดวิชาจึงมีส่วนเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหานี้โดยตรง
        8. ได้รู้ความก้าวหน้าของเพื่อนต่างโรงเรียนว่ามีพัฒนาการไปถึงไหนแล้ว ซึ่งจะช่วยเป็นแรงกระตุ้นในการเตรียมสอบได้มากขึ้น
        9.  ได้มีโอกาสพบปะเพื่อนใหม่ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกันจนบางครั้งคบกันจนเป็นเพื่อนสนิทกันไปเลย

ข้อเสีย

             1. นักเรียนบางคนไม่ตั้งใจที่จะเรียนกวดวิชา แต่ใช้การกวดวิชาเป็นข้ออ้างในการออกจากบ้านเพื่อไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนใน สถานที่ต่างๆ ทำให้ไม่เกิดประโยชน์ในการเรียนกวดวิชา และโรงเรียนกวดวิชาส่วนมากไม่มีระบบในการตรวจนับหรือติดตามนักเรียนทำให้นัก เรียนที่ไม่อยากเรียนสามารถโดดเรียนได้ง่าย
              2. นักเรียนต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเรียนกวดวิชา ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาบางแห่งเก็บค่าเรียนแพงมากอย่างไม่สมเหตุผล และยังเก็บค่าหนังสือเรียนเพิ่มอีกต่างหาก ทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ไม่สามารถเรียนได้ ลักษณะเช่นนี้นักการศึกษาบางคนจึงมองว่าความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนกวดวิชา เป็นความรู้ที่ฟุ่มเฟือย ไม่จำเป็นต้องเรียนกวดวิชาก็ได้และการเรียนกวดวิชาเป็นกิจกรรมของเด็กเปี่ยม โอกาส มีเงินมากกว่าจึงทำให้เก่งกว่า พฤติกรรมของโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ จึงถูกสังคมประนามว่ามุ่งธุรกิจ ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
               3. กวดวิชาสอนสูตรลัดเพียงเพื่อให้ทำข้อสอบคัดเลือกได้ แม้จะเป็นสูตรลัดผิดๆ ที่ไม่สามารถใช้ศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ก็มั่วสอน อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนไม่ยอมรับสูตรลัดเหล่านั้น จึงให้นักศึกษาทำข้อสอบด้วยการให้แสดงวิธีแบบอัตนัย ทำให้สูตรลัดใช้ไม่ได้ผล
                4. โรงเรียนกวดวิชายังมีการปฏิรูปการเรียนรู้น้อยมากซึ่งไม่เน้นการสอนแบบผู้ เรียนเป็นศูนย์กลาง (Child-Centered) ส่วนใหญ่เป็นการเรียนในห้องแคบๆ คนเรียนเป็นร้อยๆ คน บางครั้งก็ต้องดูผ่านทางทีวีวงจรปิด หรือ เรียนจากเทปบันทึกการสอนทำให้นักเรียนไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนสอนได้เลย คนสอนเป็นยิ่งกว่าดาราทีวีที่นักเรียนไม่เคยเจอตัวจริงเลย
               5.  การว่าการกวดวิชาไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมและทัศนคติของนัก เรียนได้ กวดวิชาถูกกล่าวหาว่าการที่นักเรียนมาพบเจอกัน เรียนด้วยกันแค่ไม่กี่ชั่วโมงจะไม่สามารถเกิดพลวัตรของกลุ่ม ไม่เรียนรู้ปรับตัวซึ่งกันและกัน ไม่มีเพื่อน มีแต่คนเคยเห็นหน้า
              6. ผู้บริหารและครูสอนกวดวิชาส่วนใหญ่ขาดความรู้ด้านการบริหารการศึกษา และมักมุ่งหวังแต่กำไรของธุรกิจเป็นสำคัญ พอเริ่มมีชื่อเสียงดังขึ้นมาก็ขึ้นค่าเรียนอย่างรวดเร็วรับนักเรียนไม่จำกัด ให้นั่งเรียนอย่างเบียดเสียด กอบโกยกำไรมหาศาลพร้อมกับการขยายสาขาด้วยการเปิด VDO ให้เด็กดู100% ตลอดหลักสูตร กระทำผิดกฏเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการหลายข้อ ขาดความรับผิดชอบ ไร้จรรยาบันโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของการศึกษาที่มีต่อการพัฒนาคน ประเทศและสังคม

                จาก ข้อดีข้อเสียข้างต้น จะพบว่านักเรียนที่เรียนกวดวิชาอาจจะได้ประโยชน์จากโรงเรียนกวดวิชามากกว่า ข้อเสีย ซึ่งในสังคมส่วนมากมักจะมองโรงเรียนกวดวิชาในแง่ลบว่าเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้น โดยอาศัยช่องว่างทางการศึกษาและไม่รับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในบางโรงเรียนนั้นผู้บริหารก็มิได้มองการกวดวิชาในแง่ผลประโยชน์ของ ธุรกิจแต่อย่างเดียว

                 จาก การสำรวจโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งพบว่า เจ้าของโรงเรียนอาจจะได้รับเงินค่าเรียนกวดวิชาเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อหักในส่วนของค่าใช้จ่ายออกแล้วก็ไม่ได้รับส่วนที่เป็นกำไรเท่าใดนัก เพราะในการตั้งโรงเรียนกวดวิชานั้นมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งงบลงทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งในบางครั้งเด็กนักเรียนบางคนที่ต้องการเรียนกวดวิชาแต่ขาดทุนทรัพย์ ทางโรงเรียนก็ให้สมัครเรียนฟรี โดยมิได้คิดค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเฉพาะกับเด็กที่ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน หรือบางคอร์สเรียนค่าเรียนก็ถูกมากเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ตั้งใจเรียน แต่มีความสามารถทางเศรษฐกิจน้อย ได้มีโอกาสได้เรียนกวดวิชาที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับนักเรียนที่ผู้ปกครองมี ฐานะดี ซึ่งเป็นการลดช่องว่างทางการศึกษา หรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด รัฐจึงไม่ควรมองว่าปัญหาการศึกษามาจากการกวดวิชาอย่างเดียวเพราะตัวเลขจำนวน นักเรียนที่กวดวิชาเทียบไม่ได้เลยกับตัวเลขของนักเรียนในระบบทั่วประเทศ จะแก้ปัญหาการศึกษาควรแก้ที่ระบบ เช่น การพัฒนาครู ระบบฝึกอบรมบุคลากรที่มีประสิทธิผล ระบบค่าตอบแทน สวัสดิการ วิธีการพิจารณาความดีความชอบ และการประเมินผลการปฏิบัติงานของครูในระบบ ปัญหาการศึกษาของไทยมีมากและซับซ้อน ไม่ใช่แค่เรื่องกวดวิชา จำไว้ว่า “มีปัญหาอย่าโทษแต่กวดวิชา”
                การถอนใบอนุญาตโรงเรียนกวดวิชาทั่วประเทศจะไม่ได้ช่วยทำให้เยาวชนไทยฉลาดขึ้น แต่จะมีส่วนทำให้เด็กไทยโง่เท่าเทียมกัน

ที่มา eduzones

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น